WHY WE LAUGH?
มากกว่าขำ
เสียงหัวเราะในฐานะพฤติกรรมทางจิตวิทยาและวัฒนธรรม

แวบแรกที่พูดถึงเสียงหัวเราะ เรามักนึกถึงเรื่องตลกและความสุข

ทว่า หากลองนึกดูดีๆ อีกที เราไม่ได้หัวเราะเพราะเรื่องตลกหรือมีความสุขเสมอไป เราเปล่งเสียงหัวเราะออกไปได้ในหลากหลายสถานการณ์มากๆ เราอาจหัวเราะเมื่อรู้สึกกังวลมากๆ เมื่อต้องการประนีประนอม เมื่อสะอกสะใจ หรือกระทั่งแกล้งหัวเราะไปอย่างนั้น

รอเบิร์ต พรอไวน์ (Robert Provine) ศาสตราจารย์ในวิชาจิตวิทยาและประสาทวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ บัลติมอร์เคาน์ตี ก็ว่าอย่างนั้น พรอไวน์ได้ศึกษาการหัวเราะกว่าสิบปีจาก 2,000 กรณีและพบว่า โดยทั่วไปแล้วเสียงหัวเราะกลับไม่ได้เกิดขึ้นจากความรู้สึกตลกขบขัน ผู้คนนั้นหัวเราะหลังคำพูดหลายแบบที่ไม่ใช่มุกตลก แล้วก็ดูไม่น่าเกี่ยวข้องอะไรกับเสียงหัวเราะแบบที่เข้าใจกันทั่วไปสักนิด เช่น “เฮ้ หายไปไหนมาล่ะจอห์น?” “แมรีมาแล้ว” “สอบเป็นไงบ้าง” หรือ “มีหนังยางมั้ย?” แต่กระนั้น คนเราก็ยังหัวเราะออกมากัน

พรอไวน์บอกว่า “ฮ่าๆๆ อันลี้ลับ” เหล่านี้เป็นกาวสังคมที่เชื่อมความสัมพันธ์ของคนเราไว้

จากการศึกษาของพรอไวน์ เขาเสนอว่า เสียงหัวเราะเป็นการสื่อสารระหว่างบุคคลในกลุ่ม โดยมีเจตนาจะสื่อถึงความสนุกสนาน และเจตนานั้นเป็นไปได้ทั้งทางบวกและทางลบ เป็นไปทั้งเพื่อยึดโยงคนในกลุ่มเอาไว้ และเพื่อไล่ใครบางคนออกไป (เช่น การหัวเราะเยาะ)

ทฤษฎีหนึ่งเกี่ยวกับเสียงหัวเราะที่ไม่ได้เกิดจากความรู้สึกตลกขบขัน และเป็นการพยายามหาที่มาทางชีววิทยาของเสียงหัวเราะก็คือ เสียงหัวเราะของมนุษย์นั้นอาจวิวัฒน์มาจากเสียงหอบของบรรพบุรุษวานรแต่โบราณ ทุกวันนี้นั้น ถ้าเราไปจั๊กจี้ชิมแพนซีหรือกอริลลา พวกมันจะไม่หัวเราะฮ่าๆๆ แบบมนุษย์ แต่จะส่งเสียงหอบ นั่นคือเสียงหัวเราะของวานร และเป็นรากฐานแห่งเสียงหัวเราะของมนุษย์ เพราะแม้สัตว์อื่นๆ อาจมีการส่งเสียงเช่นนี้ในเงื่อนไขแบบเดียวกัน (เช่น ในการเล่นกัน) แต่เสียงนั้นก็ต่างกับเสียงหัวเราะของมนุษย์มาก ไม่ได้คล้ายคลึงอย่างวานร

ถ้านึกย้อนไปถึงอดีต ยุคดึกดำบรรพ์ที่มนุษย์เรายังต้องวิ่งไล่สัตว์เพื่อล่ามาเป็นอาหาร และในทำนองเดียวกัน ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาที่เราต้องวิ่งหนีสัตว์ที่วิ่งไล่เราเพื่อล่ามาเป็นอาหารด้วยเช่นกัน ในเวลาแบบนั้น บรรพบุรุษของของเราก็ต้องเคร่งเครียดเป็นอันมากกับทั้งการพยายามยืดชีวิตออกไปและการพยายามปกป้องชีวิตตัวเอง และนั่นเป็นที่มาที่ทำให้นักปรัชญาอย่าง จอห์น มอร์รีออลล์ (John Morreall) มีทฤษฎีว่า ต้นกำเนิดทางชีววิทยาของเสียงหัวเราะก็คือการแบ่งปันความรู้สึกผ่อนคลายร่วมกัน เพราะเมื่ออันตรายดังกล่าวเหล่านั้นผ่านไปแล้ว มนุษย์โบราณที่เป็นบรรพบุรุษของเราก็จะหัวเราะร่วมกันในฐานะสัญลักษณ์หนึ่งซึ่งแสดงออกถึงความผ่อนคลาย

ในทำนองนี้แล้ว ก็ดังเช่นงานศึกษาของพรอไวน์ คือ เสียงหัวเราะทำหน้าที่เป็นตัวประสานสร้างพันธะทางสังคม เป็นสิ่งที่เราแสดงออกเพื่อบ่งชี้ว่าเราไม่ได้แปลกประหลาดไปจากกลุ่ม เราต่างเป็นพวกเดียวกัน เป็นตัวพยุงความราบรื่นยามเมื่อต้องอยู่กับคนอื่นๆ หรือให้ถึงที่สุดก็คือเป็นการแสดงนัยว่า เราจะไม่ฆ่ากันเอง

วิลลิบัลด์ รูค (Willibald Ruch) นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน ได้ระบุถึงความเป็นพลังทางสังคมของเสียงหัวเราะที่บ่งชี้ได้จากการทำงานของแก๊สหัวเราะ (ไนตรัสออกไซด์) ว่า ถ้าเราอยู่คนเดียว แก๊สหัวเราะจะไม่มีผลลึกซึ้งแก่เราเท่ากับเวลาที่เราอยู่กับคนอื่น และเอาเข้าจริงแล้วเวลาคนเราอยู่กับคนอื่นๆ ก็มีแนวโน้มที่จะระเบิดเสียงหัวเราะออกมามากกว่าเวลาอยู่คนเดียวถึง 30 เท่าด้วย (ยกเว้นในสถานการณ์แบบว่า คุณนั่งดูซิตคอมอยู่คนเดียว แต่นั่นก็เหมือนการอยู่กับคนอื่นแบบเทียมๆ)

ปรกติแล้ว หากพูดถึงเสียงหัวเราะ ก็จะมีทฤษฎีที่ใช้อธิบายอยู่ 3 ทฤษฎี ได้แก่

  1. ทฤษฎีความรู้สึกเหนือกว่า (superiority theory) ทฤษฎีนี้สามารถย้อนไปได้ไกลถึงเพลโตและอริสโตเติล แนวคิดทั่วไปของทฤษฎีนี้ก็คือคนเราจะหัวเราะเยาะความโชคร้ายของผู้อื่น เพราะความโชคร้ายของผู้อื่นนั้นคือนัยแห่งความด้อยกว่าของคนผู้นั้น และนั่นทำให้เรารู้สึกเหนือกว่าจึงหัวเราะออกมา ทฤษฎีนี้สามารถอธิบายได้ว่าทำไมจึงเกิดเสียงหัวเราะแก่มุกตลกแบบที่มีเหยื่อ ไม่ว่าเหยื่อนั้นจะเป็นตัวผู้เล่นตลกหรือผู้อื่น รวมทั้งทำไมเราถึงหัวเราะเมื่อพบกับมุกตลกแบบที่เป็นการล้อเลียนเรื่องรูปร่าง (body shaming)
  2. ทฤษฎีความผิดกาลเทศะ (incongruous juxtaposition theory) ทฤษฎีนี้บอกว่าความตลกขบขันนั้นเกิดขึ้นเพราะสิ่งที่เราคาดว่าจะเกิดขึ้นกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงนั้นเป็นคนละอย่างกัน ซึ่งเรื่องตลกแบบหักมุมน่าจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดและแพร่หลายที่สุดภายใต้ทฤษฎีนี้
  3. ทฤษฎีความผ่อนคลาย (relief theory) ทฤษฎีนี้มองว่าเสียงหัวเราะนั้นเป็นกลไกรักษาสมดุลด้วยการลดความเครียดทางจิตวิทยา อารมณ์ขันนั้นเป็นสิ่งที่เราใช้ทั้งเพื่อเอาชนะสิ่งต้องห้ามทางสังคมวัฒนธรรมและเพื่อปลดปล่อยความปรารถนาที่ถูกกดทับไว้ออกมา รวมทั้งเป็นรูปแบบหนึ่งของการปลดปล่อยพลังงานส่วนเกินที่สั่งสมเอาไว้ด้วย และในทำนองนี้ เหล่าผู้มีอำนาจถึงหวาดกลัวเสียงหัวเราะของผู้ที่ตนต้องปกครองนัก โดยเฉพาะเสียงหัวเราะต่อเรื่องที่ตนต้องการให้อยู่ในอำนาจควบคุมอย่างราบคาบ เพราะนั่นหมายถึงอำนาจควบคุมของตนไม่มีผลสมบูรณ์ แต่ในทางเดียวกัน ผู้ใช้อำนาจที่รู้จักปล่อยให้ผู้ถูกปกครองได้รื่นเริงเสียบ้าง ก็ย่อมสามารถคงความสามารถในการควบคุมของอำนาจไว้ได้อย่างแนบเนียนได้เช่นกัน

กระนั้น นอกจาก 3 ทฤษฎีดังกล่าวแล้ว ในทางของมานุษยวิทยาประวัติศาสตร์ ยังมีสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมเสียงหัวเราะสมัยนิยม (Culture of Popular Laughter) ซึ่งมีฮาอิล บาฮ์ติน (Mikhail Bakhtin) นักปรัชญาชาวรัสเซีย เป็นผู้เสนอ ส่วนหนึ่งของทฤษฎีดังกล่าวนั้นก็คือสิ่งที่เรียกว่าการมีลักษณะอย่างงานรื่นเริง (carnivalesque) โดยบาฮ์ตินเสนอว่า สำนึกแห่งงานรื่นเริงของโลก (the carnival sense of the world) มีลักษณะ 4 ประการ ได้แก่

  1. การมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างอิสระและเป็นกันเองระหว่างผู้คน (familiar and free interaction between people) งานรื่นเริงจะนำพาผู้คนที่ไม่คุ้นเคยกันมาอยู่ด้วยกันและสนับสนุนให้มีปฏิสัมพันธ์กันรวมทั้งแสดงออกถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างอิสระ
  2. พฤติกรรมแหกคอกนอกรีต (eccentric behaviour) พฤติกรรมอันปรกติอันปรกติแล้วไม่เป็นที่ยอมรับ จะเป็นที่ยอมรับกันได้ในงานรื่นเริง คนเราสามารถเปิดเผยพฤติกรรมตามธรรมชาติของตนเองออกมาได้โดยไม่ต้องรับผลอะไร
  3. เริงสมรสข้ามชนชั้น (carnivalistic mésalliances) รูปแบบอันเป็นอิสระและเป็นกันเองในงานรื่นเริงนั้นจะนำเอาทุกสิ่งที่ปรกติแล้วต่างคนต่างอยู่มาอยู่ร่วมกันได้
  4. การทำให้เปรอะเปื้อน (profanation) ในงานรื่นเริง นิยามแห่งความศักดิ์สิทธิ์และความเข้มงวดในความเคร่งครัดทางศาสนาจะถูกลดทอนอำนาจลง

ในมุมมองของบาฮ์ตินแล้ว เมื่ออยู่ในงานรื่นเริง กฎระเบียบต่างๆ ทางสังคมจะถูกกลับหัวกลับหางอย่างจงใจ งานรื่นเริงได้กลายเป็นวาล์วนิรภัยเชิงสถาบันที่ช่วยให้คนเราได้ปลดปล่อยความตึงเครียดจากระบบของสังคมออกมา

“[สำนึกแห่งงานรื่นเริงของโลก] อยู่ตรงข้ามกับความจริงจังอันเป็นทางการที่ทั้งเป็นไปโดยข้างเดียวและหม่นหมอง ความจริงจังซึ่งดื้อรั้นดันทุรังและเป็นปรปักษ์ต่อวิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลง ที่พยายามทำให้ระเบียบสังคมหรือเงื่อนไขแห่งการดำรงอยู่ที่กำหนดไว้นั้นเป็นความจริงสัมบูรณ์อันมิอาจตั้งกังขาได้”

– มีฮาอิล บาฮ์ติน

นักปรัชญาชาวรัสเซีย

ทั้งหมดทั้งมวลนั้น เราจะพบว่าเสียงหัวเราะนั้นไม่ได้มีที่ทางอยู่แต่เพียงในปริมณฑลของความตลกขบขันเท่านั้น ทว่า เสียงหัวเราะมีมิติของความเป็นทั้งพฤติกรรมทางจิตวิทยาและอุปกรณ์ทางวัฒนธรรมซึ่งทำหน้าที่ได้หลายอย่างอีกด้วย ตั้งแต่การบ่งบอกถึงความเป็นพวกเดียวกัน ไปจนถึงการแสดงอำนาจเหนือกฎระเบียบต่างๆ


เรียบเรียงจาก
NBCNEWS – A big mystery: Why do we laugh?
ScienceABC – The Science Of Laughter: Why Do We Laugh?
Wikipedia – Culture of Popular Laughter
Wikipedia – Carnivalesque

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า