ผัดหลับประกันนอน
เมื่อปัญหาไม่ใช่ “นอนไม่หลับ” แต่คือ “ไม่นอนหลับ”


  • bedtime procrastination หรือการผัดหลับประกันนอนไม่ใช่การนอนไม่หลับ แต่คือไม่หลับนอน และเป็นการผัดวันประกันพรุ่งที่ต่างจากด้านอื่นๆ เนื่องจากการนอนนั้นไม่ใช่สิ่งที่เราไม่อยากทำ
  • นักจิตวิทยาฟากหนึ่งเห็นว่าการควบคุมตัวเองนั้นมีผลมากต่อการผัดหลับประกันนอน
  • ขณะที่นักจิตวิทยาอีกฟากหนึ่งเห็นว่าลำพังแค่การควบคุมตัวเองนั้นไม่เพียงพอจะทำให้คนเราเข้านอนตรงเวลา แต่ต้องมีปัจจัยทางชีววิทยาอย่างนาฬิกาชีวิต (chronotype หรือ circadian rhythm) มาสนับสนุนด้วย

ค.ศ. 2014 โฟลร์ เอ็ม. เคริส (Floor M. Kroese) นักจิตวิทยาสุขภาพแห่งมหาวิทยาลัยอูเทรชต์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ และคณะ ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับ bedtime procrastination หรือก็คือการผัดหลับประกันนอน

การผัดหลับประกันนอนที่ว่านี้ก็คือการผัดวันประกันพรุ่งกับการนอน โดยมีลักษณะที่สำคัญก็คือ มีความตั้งใจที่จะเข้านอน (หรือต้องนอนแล้ว) แต่ก็ไม่ยอมนอนเสียที ทั้งที่ก็ไม่ได้มีอะไรต้องทำ

การผัดหลับประกันนอนนั้นแตกต่างจากการนอนไม่หลับ เนื่องจากการนอนไม่หลับนั้นเป็นการไม่นอนโดยไม่ตั้งใจ แต่การผัดหลับประกันนอนนั้นเป็นการเลื่อนเวลานอนออกไปด้วยความตั้งใจของตนเองทั้งที่ไม่มีอะไรมาขัดขวางไม่ให้นอน ลองจินตนาการถึงใครสักคนในค่ำคืนหนึ่ง (หรือไม่คุณเองก็อาจเคยมีประสบการณ์เช่นนี้) ที่งานการทั้งปวงเสร็จหมดแล้ว ไม่มีไฟเดดไลน์ลุกโชนที่ก้นจนลามมาถึงหัว ไม่ต้องรอใครกลับบ้าน แถมพรุ่งนี้ต้องตื่นไปทำงานหรืออะไรก็ตาม ปัจจัยต่างๆ รวมทั้งร่างกายก็บอกว่าต้องนอนแล้ว หัวอาจถึงหมอนและหลังก็ถึงที่นอนแล้ว ไม่มีอะไรมากั้นขวางระหว่างใครคนนั้น (หรือคุณ) กับการนอนทั้งสิ้น แต่ก็ยังไม่นอนเสียที

ลักษณะเช่นนี้ของการผัดหลับประกันนอนทำให้พฤติกรรมนี้แตกต่างจากการผัดวันประกันพรุ่งในเรื่องอื่นๆ ด้วย เนื่องจากปรกติแล้วการผัดวันประกันพรุ่งจะเป็นการผัดผ่อนการทำบางอย่างออกไปเพราะไม่ชอบทำสิ่งนั้น แต่ว่าโดยทั่วไปแล้ว โลกนี้จะมีสักกี่คนที่ไม่ชอบนอน โดยเฉพาะเมื่อถึงเวลาที่ต้องนอนและไม่มีอะไรมาขัดขวางไม่ให้นอนได้แม้แต่อย่างเดียว

การศึกษาของเคริสและคณะค้นพบว่า การผัดหลับประกันนอนนั้นมีความสัมพันธ์กับความสามารถในการควบคุมตัวเอง เธอบอกว่า “คนที่ปรกติแล้วมีปัญหากับการต่อต้านสิ่งยั่วยวนและยึดติดอยู่กับเจตจำนงของตนเอง มักมีแนวโน้มที่จะผัดผ่อนการนอนออกไป” รวมทั้งยังพบด้วยว่า คนที่ยอมรับว่าตนเองผัดหลับประกันนอนนั้นยังมีลักษณะของการเป็นคนผัดวันประกันพรุ่งในด้านอื่นๆ ของชีวิตด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น คนที่ต้องต่อต้านสิ่งย้ายวนระหว่างวันมากกว่าคนอื่นก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะผัดหลับประกันนอนมากกว่าเมื่อตอนเย็นมาถึงด้วย

ขณะเดียวกัน ในงานศึกษาของยานา คืนเนล (Jana Kühnel) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยอูล์มในเยอรมัน บอกว่าแนวโน้มของการเลื่อนเวลานอนออกไปแบบนี้นั้นต่างจากการผัดวันประกันพุ่งในเรื่องอื่นๆ อยู่ ปัญหาของการเรียกพฤติกรรมแบบนี้ว่าการผัดหลับประกันนอนก็คือเหมือนบอกเป็นนัยว่าการไม่ยอมนอนของคนคนหนึ่งนั้นเกิดการ “ควบคุมตัวเองอย่างสมบูรณ์” หรือก็คือเป็นการบังคับตัวเองไม่ให้นอน ซึ่งกรณีแบบนี้คงใช้กับคนประเภทที่นอนดึกโดยธรรมชาติ (night owl) ไม่ได้ เพราะการไม่เข้านอนของคนประเภทหลังนี้มีพลังทางชีววิทยาของนาฬิกาชีวิตหนุน (chronotype หรือ circadian rhythm) หลังอยู่

คืนเนลพบว่า คนประเภทที่นอนดึกโดยธรรมชาตินั้นมีแนวโน้มจะผัดผ่อนเวลานอนของตัวเองออกไปมากกว่าคนประเภทที่ตื่นเช้าโดยธรรมชาติ (lark) เพียงเล็กน้อยเท่านั้น กระนั้น ผลการศึกษาที่ได้ก็ยังไม่เข้มแข็งพอจะเป็นหลักฐานว่าโดยเฉลี่ยแล้วคนประเภทที่นอนดึกโดยธรรมชาติจะผัดหลับประกันนอนมากกว่า คืนเนลบอกว่าอาจเป็นเพราะกลุ่มศึกษานั้นไม่ใหญ่พอจะบอกความแตกต่างได้

นอกจากนี้ งานศึกษาของคืนเนลพบว่า ในเวลาที่พลังใจและสมาธิต่ำ กลุ่มตัวอย่างกลับมีแนวโน้มที่จะผัดหลับประกันนอนน้อยกว่า ซึ่งหมายความว่าคนเราไม่ได้ผัดหลับประกันนอนเพราะใช้พลังการควบคุมตัวเองที่สำรองไว้จนหมดไป (ตรงนี้ขัดกับของเคริส) คืนเนลจึงเห็นว่าปรากฏการณ์ผัดหลับประกันนอนนั้นเป็นเพราะความไม่ตรงกันระหว่างนาฬิกาชีวิตกับการเรียกร้องของสังคม

“แค่ความตั้งใจจะเข้านอนให้เร็วนั้นไม่เพียงพอ” คืนเนลกล่าว “ต้องมีกระบวนการทางชีวิวิทยามาสนับสนุนความตั้งใจนี้ด้วย”

ข้อค้นพบนี้เกี่ยวพันไปถึงภาพลักษณ์ที่ว่าคนประเภทที่นอนดึกโดยธรรมชาตินั้นเป็นพวกที่ไม่มีวินัย เพราะในเมื่อนาฬิกาชีวิตของพวกเขาเป็นแบบนั้น พวกเขาก็ไม่ควรถูกตีตราไปในทางที่ว่าที่เข้านอนตรงเวลาไม่ได้นั้นเป็นเพราะพวกเขาไม่ตั้งใจจะควบคุมตัวเองให้มากพอเอง

แต่อย่างไรก็ดี ทั้งเคริสและคืนเนลต่างเห็นด้วยว่าทั้งนาฬิกาชีวิตและการควบคุมตัวเองนั้นล้วนมีผลต่อการผัดหลับประกันนอน “เราไม่ได้ต้องการจะบอกว่าการควบคุมตัวเองนั้นไม่เกี่ยวข้องหรือไม่มีบทบาทอะไรต่อการผัดหลับประกันนอน” คืนเนลกล่าว “แต่เราอยากแสดงให้เห็นว่านาฬิกาชีวิตนั้นเป็นปัจจัยที่จำเป็นต้องนำมาพิจารณาด้วยอย่างยิ่ง”


เรียบเรียงจาก
frontiers in Psychology – Bedtime procrastination: introducing a new area of procrastination
TIME – Face It, You’re a Bedtime Procrastinator
BUSTLE – How To Get To Bed On Time Every Night, Because “Bedtime Procrastination” Is A Real Thing

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า