เคยไหมที่…ไม่ว่าจะพยายามเพียงใด ก็ไม่อาจหยุดยั้งตัวเองไม่ให้คิดถึงเรื่องราวในอดีต ที่ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานได้สักที
แนนซี โคลิเออร์ (Nancy Colier) นักจิตบำบัดผู้เขียนหนังสือ The Power of Off: The Mindful Way to Stay Sane in a Virtual World (2016) บอกว่า ที่คนเรามักเอาแต่คิดซ้ำไปซ้ำมาถึงประสบการณ์ต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความคิดเชิงลบนั้นก็เพราะเราอยากให้ประสบการณ์ลบๆ เหล่านั้นเป็นไปในแบบอื่น การเล่นซ้ำ (replay) ทางจิตเช่นนั้นคือความพยายามจะเขียนเรื่องราวเชิงลบเหล่านั้นไปเป็นความจริงแบบใหม่ เพราะหากเราสามารถรู้สาเหตุของเรื่อง รู้ว่าต้องโทษใคร และรู้ว่าต้องทำอย่างไรกับมัน เราก็จะโอเค
นั่นคือสิ่งที่ทำให้โคลิเออร์บอกว่า ในความพยายามจะปล่อยให้เรื่องราวเหล่านั้นผ่านพ้นไป เรากลับผูกตัวเองติดกับมันไว้อย่างช่างย้อนแย้ง
ทว่า เมื่อต้องคิดถึงประสบการณ์อันน่าเจ็บปวด จิตใจของเราจะสร้างโครงสร้างใหม่ๆ หรือกำหนดกรอบใหม่ๆ ให้เนื้อหาแห่งความเจ็บปวดนั้น เลยทำให้เรา “คิดถึง” ความเจ็บปวดมากกว่าจะ “เผชิญหน้า” กับมันโดยตรง ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะว่า จิตใจของเราหลีกเลี่ยงที่จะปะทะกับมันตรงๆ โดยไม่รู้ตัว
แต่อย่างไรก็ดี การครุ่นคิดซ้ำไปซ้ำมาถึงประสบการณ์อันไม่น่าจดจำนั้นๆ กลับกลายเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าความเจ็บปวดของเรานั้นสำคัญ ทำให้รู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องที่เกิดมาอย่างไม่มีที่มาที่ไป และนั่นทำให้มันไม่มีวันลบเลือน
การครุ่นคิดซ้ำไปซ้ำมาของเรานั้นมอบความสำคัญและคุณค่าให้แก่ความทุกข์ทรมานของเรา ซึ่งความสำคัญและคุณค่านี่เองที่เรื่องราวอันทุกข์ทรมานนั้นมักไม่ได้รับจากสิ่งที่ทำให้เราต้องเจ็บปวด
[ยกตัวอย่างง่ายๆ ไปรักเขาแล้วเขาไม่รัก เราก็เลยนั่งวนอยู่กับความคิดที่ว่าเรารักเขา เพราะการทำแบบนั้นมันทำให้รู้สึกว่าความรักของเรายังมีคุณค่า ในขณะที่คนที่เราไปรักนั้นไม่เห็นค่าใดๆ ของมัน หรือไม่เห็นค่ามันในแบบที่เราต้องการ]
ส่วนที่สำคัญที่สุดของกระบวนการนี้ก็คือ การครุ่นคิดซ้ำไปซ้ำมานั้นขมวดเกลียวเข้ากับสัมผัสถึงการมีตัวตนของเราอย่างลึกซึ้ง เราย้ำเตือนตัวเองถึงความเจ็บปวดต่างๆ ก็เพื่อให้เรื่องเล่าส่วนบุคคลของเรายังมีชีวิตอยู่ มันคือเรื่องราวของเรา คือการบอกว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเราและชีวิตของเรา พูดง่ายๆ ก็คือความทุกข์ทรมานเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของเรา เป็นสิ่งที่ทำให้เราเป็นเรา แล้วจะเกิดอะไรขึ้นล่ะ ถ้าเกิดวันหนึ่งมันหายไป
และนั่นทำให้ในทางหนึ่งแล้ว เอาเข้าจริงเราก็มีความกังวลที่จะต้องสูญเสียความคิดเชิงลบพวกนั้นไป เพราะนั่นหมายถึงการสูญเสียตัวตนบางส่วนของเราไปด้วย มันจะทำให้เราลืมว่าเราเป็นใคร
โคลิเออร์จึงบอกว่า ในระดับของการดำรงอยู่นั้น การกลับไปหาความทุกข์ทรมานของตนเองทำให้เราได้สัมผัสกับความรู้สึกของ “ความเป็นฉัน” (I-ness) คือได้สัมผัสถึงการดำรงอยู่ และการลืมความทุกข์ทรมานเหล่านั้นไปก็ทำให้เราต้องรู้สึกถูกคุมคามถึงระดับรากฐานตัวตนเลยทีเดียว
แต่กระนั้น ทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าโคลิเออร์กำลังบอกว่าเช่นนั้นก็ปล่อยมันไป กลับกัน เธอบอกว่าแม้กระบวนการเหล่านั้นจะเกิดขึ้นเพราะเราต้องการจะรู้สึกดีขึ้น แต่มันก็ทำให้เราทุกข์ทรมานเกินกว่าที่ควรจะเป็น โคลิเออร์จึงเสนอวิธีต่างๆ ในการจัดการตัวเองไว้ดังนี้
1. มีสติ: พยายามมีสติรู้ตัวในเวลาที่เราเริ่มจะกลับไปเยี่ยมเยือนความทุกข์ทรมานเหล่านั้น ให้รู้ตัวว่าเรากำลังทำแบบนั้นกับตัวเอง
2. ยอมรับว่าตัวเองจมอยู่กับมัน: เมื่อรู้ตัวแล้วว่ากำลังจมลงไปก็พูดกับตัวเองออกมาดังๆ เลย “เฮ้ย กูจมว่ะ” (หรือ “เหวอ เราจมแฮะ”) “ทำงี้กับตัวเองอีกแล้วกู” (หรือ “ทำอย่างนี้กับตัวเองอีกแล้วเรา”) แบบไหนก็ได้ ขอให้พูดออกมาเมื่อรู้ตัวว่าติดหล่มจมปลักเสียแล้ว แล้วยอมรับความจริงไปเลยว่าต้านไม่ไหวหรือกำลังจมอยู่ในเรื่องเจ็บเรื่องปวดของตนเอง
3. ถามตัวเอง: ถามตัวเองว่าเราต้องการบรรลุอะไรจากการวนกลับไปหาเรื่องทุกข์ทรมานนั้น เพื่อแก้ปัญหา เพื่อเปลี่ยนแปลงมัน เพื่อให้มันเป็นที่รับรู้ หรือเพื่ออะไร แล้วการคิดถึงเรื่องราวเหล่านั้นทำให้เราดีขึ้นไหม โคลิเออร์บอกว่าถ้าเอาแต่พยายามสงบใจก็เหมือนเอากล้วยไปไขกุญแจ และการเอาแต่คิดถึงเรื่องราวนั้นมันก็ไม่ได้ช่วยอะไรเราหรอก
4. เปลี่ยนความสนใจจากตัวปัญหาไปยังความรู้สึกจริงๆ ที่เกิดกับตัวเอง: ให้รู้สึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายตัวเองเมื่อคิดถึงเรื่องราวเหล่านั้น โคลิเออร์บอกว่า เราอาจวางมือลงไปที่หัวใจของตัวเอง แล้วพูดจาดีๆ กับตัวเองด้วยก็ได้ (อันนี้แอดมินลองแล้วพบว่าไม่ต้องหัวใจก็ได้ครับ วางไปตรงไหนสักที่ ให้สัมผัสที่เกิดกับร่างกายมันเปลี่ยนจากความรู้สึกที่อื้ออึงในหัวไปอยู่ที่อื่นแทน)
5. บอกออกมาดังๆ เลยว่า “ไม่” หรือ “พอ”: เหมือนเวลาที่เราเห็นใครกำลังทำอะไรที่จะเป็นอันตรายกับตัวเองแล้วเราก็จะตะโกนห้ามหรือเตือนเขา อันนี้ก็คือเราทำแบบนั้นกับตัวเรา เตือนตัวเราว่ากำลังจะทำอันตรายกับตัวเอง นอกจากนี้ การตะโกนออกมาก็ยังให้ผลเหมือนในข้อ 4 ด้วย คือย้ายสัมผัสออกจากในหัวไปอยู่ที่อื่น
6. ถามตัวเองว่าถ้าต้องปล่อยความเจ็บปวดนี้ไปแล้วเราต้องเสี่ยงกับอะไรบ้าง: ลองค้นตัวเองดูว่าถ้าไม่ต้องไปครุ่นคิดถึงเรื่องอันทุกข์ทรมานเหล่านั้นแล้วจะเกิดอันตรายอะไรกับชีวิตหรือไม่ อย่าเติมปัจจุบันด้วยอดีต ลองสร้างตัวตนที่ไม่ได้ก่อร่างจากเรื่องเล่าส่วนบุคคลของตนเอง แต่ให้เป็นตัวตนที่สดใหม่เสมอและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
เรียบเรียงจาก: Psychology Today – Negative Thinking: A Most Dangerous Addiction
***หมายเหตุ: สำหรับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า แอดมินคิดว่าคำแนะนำ 6 ข้อข้างต้นอาจไม่เพียงพอนะครับ การได้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือพบแพทย์อย่างเหมาะสมอาจจะมีประสิทธิภาพมากกว่า***