รายละเอียดเพิ่มเติม
ชื่อหนังสือ: | The Tyranny of Merit: What’s Become of the Common Good? |
เผด็จการความคู่ควร: เกิดอะไรขึ้นกับประโยชน์ส่วนรวม? | |
ผู้เขียน: | Michael J. Sandel |
ผู้แปล: | สฤณี อาชวานันทกุล |
ออกแบบปก: | รัชชานนท์ บุ้งศรีทอง |
หมวด: | ปรัชญา / สังคมศาสตร์ |
ISBN: | 978-616-8266-28-1 |
จำนวนหน้า: | 376 หน้า |
ราคา: | 380 บาท |
Preview: | อ่านตัวอย่างหนังสือ คลิกที่นี่ |
เนื้อเรื่องย่อ:
ผลงานเล่มล่าสุดของ ไมเคิล แซนเดล เจ้าของหนังสือยอดนิยมอย่าง ความยุติธรรม และ เงินไม่ใช่พระเจ้า
ในขณะที่ความฝันแบบอเมริกันที่ว่า “คุณประสบความสำเร็จได้ถ้าคุณพยายาม” หล่อเลี้ยงความหวังของผู้คนมานานหลายทศวรรษ หนังสือเล่มนี้จะทำให้คุณต้องคิดใหม่…
เพราะไมเคิลจะชี้ให้คุณเห็นว่าความสำเร็จในทุกวันนี้ไม่ได้มาจาก ความคู่ควร อันเกิดจากพรสวรรค์หรือพรแสวงเพียงอย่างเดียวอย่างที่หลายคนเชื่ออีกต่อไป แต่มีอีกหลายปัจจัยที่คอยเกื้อหนุนระหว่างทาง ไม่ว่าจะเป็นพื้นเพทางครอบครัว โอกาสทางการศึกษา ไม่เว้นแม้แต่ความโชคดีที่ได้เกิดในสังคมที่ให้ค่ากับพรสวรรค์นั้นๆ
ดังนั้นผู้ชนะในเส้นทางนี้ก็ไม่ควรหยิ่งผยองพองขนว่าความสำเร็จที่ได้มาเป็นเพราะตัวเองล้วนๆ ส่วนผู้แพ้ก็ไม่ควรยอมรับอย่างจำนนว่าตัวเองควรคู่กับความล้มเหลวนั้น แต่นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อกระแสโลกาภิวัตน์พัดกระพือไปทั่วโลกและนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำที่ถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ
สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้หลายคนมุ่งไปว่า ปริญญาจะช่วยพาให้คนพ้นจากความเหลื่อมล้ำได้ผ่านการเลื่อนระดับชั้นทางสังคม แต่แท้จริงนั่นคือการหนีปัญหา ไม่ใช่การแก้ปัญหา และกลับยิ่งทำให้ผู้ชนะกับผู้แพ้ขยับห่างจากกันมากขึ้น จนความกลมเกลียวและภราดรภาพในสังคมเจือจาง นำไปสู่การแบ่งขั้วทางความคิดและกระแสต่อต้านชนชั้นนำซึ่งเห็นได้จากปรากฏการณ์เบร็กซิตและการขึ้นสู่ตำแหน่งของโดนัลด์ ทรัมป์
แม้กรณีศึกษาต่างๆ ที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงในหนังสือเล่มนี้ส่วนใหญ่มีฉากหลังในโลกตะวันตก แต่เชื่อเถิดว่า มันสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมอื่นทั่วโลกรวมถึงเมืองไทยด้วย
นอกจากหนังสือเล่มนี้จะทำให้คุณมองแนวคิดเดิมที่ดูเหมือนจะสร้างแรงบันดาลใจในมุมใหม่ มันยังทิ้งคำถามให้เราได้คิดกันต่อว่า สังคมคู่ควรนิยมคือสังคมที่ยุติธรรมจริงหรือ ความเท่าเทียมในสังคมคือคำตอบสุดท้ายจริงหรือ ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่สร้างมูลค่าทางตลาดที่สูงเท่านั้นหรือ
หรือที่จริงแล้ว ทุกคนไม่จำเป็นต้องตะกายจาก “ดินสู่ดาว” แต่อย่างน้อยทุกคนควรได้ใช้ชีวิตที่ดีและมีศักดิ์ศรีในงานที่ทำโดยมองที่ คุณค่า มากกว่า มูลค่า ที่พวกเขามอบให้กับตลาดหรือสังคมนั้นๆ กันแน่